หลังจากตัดถางต้นไม้ออกแล้ว ลุงแหวง อาวพิน และพ่อก็ว่าจ้างรถไถ ให้มาไถปรับพื้นที่จนราบเรียบสม่ำเสมอ แล้วยกร่องพื้นที่ป่าเป็นแปลงโพนสำหรับการปลูกหอมแดง ที่ของลุงทำเป็นแปลงใหญ่ยาวไปจนสุดตีนป่า ของอาวทำเป็นแปลงใหญ่สามแปลง อยู่ทางทิศตะวันตก ในลักษณะตัดขวางแปลงของลุง ส่วนของพ่อทำแค่สองแปลงยาวล่องตามแปลงของลุง เป็นที่ติดทางที่ใช้สัญจรกัน แต่ละแปลงต้องลงจอบขุดตอไม้ออก เหลือตอใหญ่ ๆที่ต้องขุดรอบ ๆ และสุมไฟเผาจนเหลือเพียงส่วนเหง้าติดก้นหลุม หลังถมหลุมแล้ว ปรับพื้นให้ราบเสมอกัน รอจนฝนใหม่ลงพรมพื้น ให้ดินชุ่มพอ จึงนำควายเข้าไถ คราด
สองปีแรก พวกเราลงแตงโม ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ข้อยยังจำภาพตัวเองกับอาวพินได้ดี เราเข็นรถแตงโมลูกโตเท่าหม้อนึ่งมาเต็มคัน บุกฝ่าทางดินทรายจากสวนจนถึงบ้าน เป็นภาพแห่งความอิ่มเอิบใจในผลงานแห่งแฮงงานหยาดเหงื่อ แม้ว่าจะต้องนำไปขายในราคาที่ไม่ค่อยคุ้มค่านัก ก็ตามที
ในปีที่สาม ราวเดือนพฤษภาคม พ่อพาข้อยไปไถหว่านถั่วเขียวปรับสภาพดินอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เหมาะแก่การปลูกหอมแดง
เราปล่อยให้เมล็ดถั่วงอกเงย เติบโตไปตามวิถีธรรมชาติ ขณะที่งานนา ก็ตั้งตารอพวกเราเร่งรัดจัดการ พอไถดะฮุดนาเสร็จนั่นแล้ว พ่อจึงค่อยพาไปเยี่ยมไร่ถั่วเขียวของเรา
ไปถึงไร่ ข้อยแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ว่าระยะเวลาแค่สองเดือน จากพื้นที่โพนโล่งกว้าง จะกลายเป็นดงถั่วระบัดใบเขียวพระอินทร์ครึ้มเป็นผืน ยามล้อลมเป็นลอนคลื่นคล้ายผ้ายาวไหมเครือของย่าได้ บ้างก็ออกดอกจนติดฝักติดลูก บางฝักเริ่มแก่จัดผิวออกดำขี้ถ่านไฟ
พ่อบอกว่า อีกไม่กี่วันคงได้เก็บฝักถั่วเขียวกัน
การเก็บฝักถั่วเขียวช่วงกลางวัน ช่างเป็นงานที่แสนสาหัส
ขนของใบและต้นถั่วเมื่อถูกแดด ปลิวมาต้องผิวเนื้อทำให้ระคายเคือง คันยุกยิก ๆ คนเก็บฝักถั่วจึงต้องสวมเสื้อแขนยาวและถุงมือ ใช้ผ้าขาวม้าห่อคลุมศีรษะกันแดดด้วย ส่วนอุปกรณ์ป้องกันสองเท้า อย่างดีก็แค่รองเท้าแตะเท่านั้น จึงมักมีรอยมดแดงดินกัดจนบวมแดง ต้องพึ่งยาหม่องอยู่เสมอ
ข้อยไปเก็บถั่วเขียวกับพ่อแม่ ดึง ๆฝักที่เป็นสีดำ ยัดลงในกระสอบปุ๋ย แต่ทำได้ไม่นานก็เบื่อ อาศัยว่ามีงานดูแลควาย พอเป็นข้ออ้างออกจากดงคันคายนั้นได้ และบางวันก็ถือโอกาสนั้น ไปเล่นยิงธนูไม้ที่ทำขึ้นเอง ออกล่าตั๊กแตน ล่าได้ก็จับลงกระเป๋าเสื้อ นำมาให้แม่ทำอาหารมื้อบ่ายสำหรับทุกคน
กระสอบถั่วที่เราเก็บได้ ถูกลำเลียงใส่รถซุกหรือรถเข็นคันใหญ่ ขนไปตากที่ลานหน้าบ้าน พอแห้งดี เป็นหน้าที่ย่ากับแม่ที่ต้องช่วยกันทยอยตำเอาเมล็ด หรือไม่ก็ใช้เท้าย่ำยีฝักให้เมล็ดออกมาเต็มผ้าเขียวหรือผ้าแพรกะแยง ที่ตำหรือยีแล้วก็ถูกนำไปใส่กระด้งฝัดเอากากเปลือกฝักออกให้หมด จึงนำเมล็ดถั่วสีเขียวเป็นมันเหมือนถูกเช็ดด้วยน้ำมันมะพร้าว บรรจุใส่ในถุงหรือถัง เก็บไว้ใช้งานต่อไป
เมล็ดถั่วเขียวจะถูกนำมาแช่น้ำ ทำเป็นของหวานวันปักดำนาเสร็จ หรือภาษาพื้นบ้านว่า “มื้อซ้ำนา” ของหวานที่มักเรียกกันว่า “หวานบักถั่ว” หรือ “ต้มถั่วเขียว” ซึ่งก็คือเมล็ดถั่วเขียวต้มใส่น้ำตาลนั่นเอง คุณค่าของมันนอกจากช่วยให้ท้องอิ่ม ให้พลังงานแก่ร่างกายแล้ว ย่าของข้อยยังเคยบอกว่าต้มถั่วเขียวเป็นยาเย็นแก้ร้อนในได้ด้วย
เมล็ดถั่วเขียว นอกจากทำของหวานที่แสนอร่อยยามเหนื่อยหนักจากเหวียกงานแล้ว ยามถึงเดือนบุญทาน ยังนำมันมาแช่น้ำใส่ในข้าวต้มมัดได้อีก หรือจะใส่ในบั้งแช่หม่ารวมกับ ข้าวเหนียว จะได้ข้าวหลามถั่วเขียว หากเติมน้ำกะทิใบเตยหอมโบราณด้วยแล้ว แค่ได้กลิ่นก็ถวิลหา
ทุกวันนี้ของหวานถั่วเขียว อาจไม่เป็นที่นิยมในหมู่เด็กวัยรุ่นแล้ว แต่เร็ว ๆนี้ข้อยเห็นมีบริษัททำไอศกรีมโบราณหลากรสรายหนึ่ง นำถั่วเขียวมาทำเป็นไอติมอีกรสหนึ่งด้วย สนนราคาแท่งละสิบบาท ข้อยลองลิ้มชิมดูแล้ว ยังไงก็สู้ต้มถั่วยามขึ้นจากนาเหนื่อย ๆไม่ได้
นึกแล้ว เสียดายที่บ้านเราไม่ปลูกถั่วเขียวเป็นปุ๋ยพืชสดแบบเก่าอีกแล้ว จะกินต้มถั่วทีต้องออกไปซื้อหาถึงร้านค้าร้านขาย ไม่แน่ใจว่าคนปลูกใส่ยาอะไรมาบ้าง ไม่รู้ว่าจะปลอดภัยจากสารเคมี มีพิษตกค้างร้ายแรงแค่ไหน
